เขียนโดย SMEs Plannet Thailand on วันเสาร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2554

วางแผนธุรกิจ

ในการดำเนินธุรกิจทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแข่งขันสูงขึ้น เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆดีขึ้น นโยบายของรัฐบาลที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ นโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ราคาน้ำมันแพงขึ้น ข้อกำหนดและมาตรฐานสินค้าต่างๆมากขึ้น  ฯลฯ

ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ หากผู้บริหารไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือไม่สามารถพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ การดำเนินธุรกิจของท่านก็อาจจะประสบกับปัญหา และที่สำคัญ ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีก็จะมีผลให้กำไรลดลงหรือขาดทุนได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้ทัน ผู้บริหารจะต้องมีการ วางแผนธุรกิจ ภายใต้ข้อมูล ทรัพยากรที่มีอยู่ และกฏ ระเบียบต่างๆ ด้วย แผนธุรกิจควรจะมีทั้งแผนระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว โดยที่แผนระยะสั้นเป็นการวางแผนภายใน 1 ปีซึ่งอาจจะมุ่งเน้นในการพัฒนาคุณภาพสินค้า การปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุนและ/หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ในการเขียนแผนธุรกิจควรจะประกอบไปด้วย ข้อมูลของกิจการ ข้อมูลของอุตสาหกรรม คู่แข่ง และแนวโน้มของภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำสู่การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ด้านการตลาด ความเป็นไปได้ด้านการเงิน ความเป็นไปได้ด้านการผลิต การวางแผนการบริหารจัดการ การวิเคราะห์SWOT Analysis การวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยง และการป้องกันความเสี่ยง

ในการวิเคราะห์ SWOT Analysis แบ่งเป็น การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และปัจจัยภายนอก ซึ่งสามารถแบ่งการพิจารณาได้ดังนี้

การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน




























ปัจจัยการพิจารณาจุดแข็ง(Strengths)จุดอ่อน(Weakness)
ด้านการบริหารจัดการ
ด้านการตลาด
ด้านการผลิต
ด้านการเงิน

การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก




























ปัจจัยการพิจารณาโอกาส(Opportumities)อุปสรรค(Threats)
ตลาดและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
สถานการณ์การแข่งขัน
เทคโนโลยี
กฎ ระเบียบ อื่นๆ

ในการวิเคราะห์ดังกล่าวอาจจะแบ่งเป็นหัวข้อย่อยลงไปได้อีก  ซึ่งผู้บริหารสามารถนำไปใช้ปรับปรุงการบริหารงานในแต่ละด้านได้เป็นอย่างดี หรืออาจจะต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์  หรือมาตรการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้  เช่น การเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน (ASEAN ECONOMIC COMMUNITY)  เป็นต้น

สำหรับแผนธุรกิจระยะปานกลางเป็นการวางแผนตั้งแต่ 1-3 ปี  ซึ่งการดำเนินงานตามแผนอาจจะต้องมีระยะเวลาในการดำเนินการที่มากกว่า 1 ปีขึ้นไป  เช่นการขยายกำลังการผลิต  การเพิ่มสายการผลิตใหม่ซึ่งอาจจะต้องมีการขยายโรงงาน ซื้อเครื่องจักรชุดใหม่ เพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ การขยายตลาดสู่ต่างประเทศ เป็นต้น

แผนธุรกิจระยะยาวเป็นการวางแผนตั้งแต่ 3-5 ปีขึ้นไป  โดยที่แผนระยะยาวเป็นการวางแนวทางการดำเนินงานว่า กิจการจะเติบโตไปในทิศทางใด เช่น  กิจการจะเป็นผู้นำตลาดที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด(ซึ่งอาจจะกำหนดว่าไม่ต่ำกว่า.....%)  บริษัทจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศภายใน5 ปี  เป็นต้น

ในการนำไปสู่เป้าหมายของแผนธุรกิจจะต้องมีการกำหนดแผนงาน กลยุทธ์ และเป้าหมายของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบ  ซึ่งจะต้องมีความสอดคล้องทั้งการดำเนินงาน  แผนกำลังคน  และแผนการเงิน  โดยจะต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้แผนธุรกิจจะต้องสอดรับกัน  โดยที่แผนระยะยะสั้นจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของแผนะระยะปานกลาง  และแผนระยะปานกลางจะต้องมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนระยะยาว

ในการจัดทำแผนธุรกิจมักจะมีคำถามว่า  ทำแผนธุรกิจไปทำไม  มีประโยชน์อย่างไร  ยุ่งยาก เสียเวลาและไม่เห็นว่าจะนำไปใช้ได้จริง

คำถามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึง การมองแผนธุรกิจเป็นเพียงแค่แผนงานบนกระดาษเท่านั้น  แต่สำหรับผู้ที่เห็นความสำคัญของแผนธุรกิจจะเห็นว่า แผนธุรกิจเป็นเครื่องมือที่ช่วยบริหารงานได้เป็นอย่างดี  ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร  ซึ่งหากผู้บริหารเห็นความสำคัญของแผนธุรกิจก็จะ วางแผนธุรกิจ ที่มีความเป็นไปได้สูง

แผนธุรกิจ นอกจากจะนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานแล้ว  ยังจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารต่อหน่วยงานภายนอกที่มีส่วนได้-ส่วนเสียกับกิจการด้วย เช่น  ธนาคาร สถาบันการเงิน  นักลงทุน หรือกรณีที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศก็จะต้องนำเสนอคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

ก่อนที่จะนำแผนธุรกิจไปใช้ในการดำเนินงานก็ควรนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหรือผู้ถือหุ้น  เพื่อพิจารณาว่าแผนธุรกิจที่นำเสนอมีความเป็นไปได้หรือไม่  ควรปรับปรุง หรือเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง

ในการนำแผนธุรกิจมาเป็นแนวทางในการดำเนินงานต่อไปนั้น  ผู้บริหารจะต้องมีการถ่ายทอดแผนลงสู่ผู้ปฎิบัติ  โดยทุกส่วนงานจะต้องมุ่งเน้นเป้าหมายเดียวกัน และจะต้องช่วยกันดำเนินงานตามาแผนงานที่ตนรับผิดชอบให้สอดคล้องกัน  เพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนธุรกิจและตามระยะเวลาที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม เมื่อดำเนินงานไปตามแผนก็อาจจะมีปัญหา อุปสรรคที่เกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผน   ดังนั้น ผู้บริหารอาจจะต้องมีการทบทวนแผนงาน หาสาเหตุ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข  เพื่อปรับเปลี่ยนแผนธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายต่อไป

แผนธุรกิจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะบอกผู้บริหารว่า ทิศทางในการดำเนินงานของกิจการจะต้องดำเนินการอย่างไร  ใช้กำลังคนเท่าไหร่  ต้องใช้กำลังเงิน ทรัพยากรต่างๆเท่าไหร่  และจะก่อให้เกิดรายได้  ผลผลิตต่างๆ รวมถึงก่อให้เกิดกำไรมากน้อยเพียงใดให้แก่กิจการ   นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งและมีศักยภาพในการแข่งขัน  สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน  ซึ่งภายใต้สถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ ผู้บริหารก็จะสามารถปรับตัวได้ทัน  และดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง

แผนธุรกิจที่ดีจะต้องเป็นแผนธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ได้จริง  และมีการนำไปใช้ในการดำเนินงานจริง  ดังนั้น  ท่านเพียงแต่เริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจ  ท่านก็ได้เปรียบคู่แข่งขันแล้ว

ที่มาจาก สสว.

 
More about

เขียนโดย SMEs Plannet Thailand

ธุรกิจ แฟรน์ไชส์  ( Franchise ) คือ ธุรกิจที่บุคคลหนึ่งเรียกว่า “แฟรนไชส์ ซอร์ ” (  ผู้ให้สิทธิในการประกอบธุรกิจ )  ตกลงให้บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “แฟรนไชส์ ซี ” ( ผู้รับสิทธิในการประกอบธุรกิจ )   ประกอบธุรกิจโดยใช้รูปแบบ  ระบบ  ขั้นตอน  และสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาของตนหรือที่ตนมีสิทธิที่จะให้ผู้อื่นใช้เพื่อประกอบธุรกิจภายในระยะเวลาหรือเขตพื้นที่ที่กำหนด และการประกอบธุรกิจนั้นอยู่ภายใต้การส่งเสริม  และควบคุมตามแผนการดำเนินธุรกิจของ แฟรนไชส์ ซอร์  และ แฟรนไชส์ ซี มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนแก่ แฟรนไชส์ ซอร์

ธุรกิจ แฟรน์ไชส์   จึงเป็นธุรกิจที่เจ้าของสิทธิให้สิทธิผู้อื่นในการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือบริการได้  ภายใต้สิทธิประโยชน์ในการใช้ชื่อการค้า  ตราสินค้า  เทคนิคในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการและวิธีการในการดำเนินธุรกิจของตน

ประเภทของ แฟรน์ไชส์  แบ่งได้เป็น 3  ประเภท  คือ

1.  Product  and Brand  Franching  คือ  การที่ผู้ผลิตสินค้าให้สิทธิบุคคลอื่นในการขายสินค้าที่ตนเองผลิตขึ้น   รวมถึงการให้สิทธิในการใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ผลิต  เช่น  ธุรกิจขายรถยนต์ (ดีลเลอร์ )  ธุรกิจขายน้ำมัน  ธุรกิจขายน้ำอัดลม

2.  Business  Format  Franching  คือ   การให้สิทธิบุคคลอื่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อขายสินค้าหรือบริการ  โดยใช้เครื่องหมายการค้าของเจ้าของสิทธิ  และใช้ระบบการดำเนินธุรกิจที่เจ้าของสิทธิพิสูจน์แล้ว  ส่วนมากจะใช้กับธุรกิจฟาสต์ฟู้ด

3.  Conversion Franchsing  เป็นลักษณะที่พัฒนามาจาก แฟรน์ไชส์ ประเภท

Business  Format  โดยออกแบบระบบเพื่อเปลี่ยนร้านค้าที่เป็นอิสระให้หันเข้ามาร่วมในระบบแฟรนไชส์  เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการใช้ชื่อทางการค้าและการทำโฆษณาร่วมกันในระดับประเทศ  โดยใช้เครื่องหมายการค้าร่วมกัน  เช่น  ธุรกิจโรงแรม

ลักษณะการดำเนินงานของธุรกิจ แฟรนไชส์   แบ่งเป็น  3 ลักษณะ  ประกอบด้วย

1.  การซื้อสิทธิในด้านเทคนิค หรือ Know How คือ เจ้าของสิทธิ ให้ความรู้หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่จำเป็นในการประกอบธุรกิจแก่ ผู้ซื้อสิทธิโดยมิได้  มีการร่วมลงทุนหรือมีทรัพย์สินร่วมกัน

2.  การจัดตั้งสาขา เป็นการดำเนินงานที่เจ้าของสิทธิเข้ามาดำเนินการดูแลและจัดการบริหารงานในสาขานั้นๆเอง  เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า กิจการที่เปิดดำเนินการมีมาตรฐานเดียวกัน

3. การร่วมลงทุน เป็นการดำเนินงานร่วมกันโดยที่เจ้าของสิทธิ และผู้ได้รับสิทธิตกลงร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ โดยเจ้าของสิทธิเดิมจะได้รับส่วนแบ่งผลกำไรหรือมีส่วนร่วมลงทุนโดยมีหุ้นในกิจการจำนวนหนึ่ง

            สาเหตุที่ทำให้การทำธุรกิจแบบ แฟรนไชส์  ได้รับความนิยม เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย  คือ  

ผลประโยชน์ของเจ้าของสิทธิ

 1.   สามารถขยายกิจการโดยไม่ต้องเพิ่มการลงทุนเอง


2.   ชุมชนยอมรับสินค้า เมื่อผู้รับสิทธิได้รับสิทธิในการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นนั้นๆ


3.   ประหยัดต้นทุนทางการตลาดและการขนส่ง เพราะผู้ได้รับสิทธิร่วมรับผิดชอบ


4.   ต้นทุนในการดำเนินการผู้รับสิทธิอาจเป็นผู้รับผิดชอบ


5.   มีรายได้จากค่าธรรมเนียมจากผู้ขอรับสิทธิ ซึ่งทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น


6.   กำไรที่ได้จากการส่งสินค้าหรือวัสดุ


7.   สามารถควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้จากข้อตกลงกับผู้ขอรับสิทธิ


8.   ได้รับรายได้จากกำไรตามยอดขายที่ผู้รับสิทธิทำได้


ผลประโยชน์ของผู้รับสิทธิ

 1.   ได้รับคำแนะนำด้านการบริหารจัดการ  การฝึกอบรม  และช่วยในเรื่องการตัดสินใจที่เหมาะสม


2.   ความเสี่ยงต่างๆจะน้อยลง  เนื่องจากธุรกิจได้รับสิทธิจากธุรกิจที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว  และประสบความสำเร็จมาแล้ว


3.   ได้รับความช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมการขายและการโฆษณา


4.   เป็นสมาชิกภายใต้ระบบการค้าปลีกขนาดใหญ่


5.   ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงิน  ในการจัดซื้อสินค้าด้วยการคิดผลตอบแทนต่ำ


6.   ได้รับเครดิตในการสต๊อกสินค้า


7.   เป็นสินค้า หรือ กิจการที่ผู้บริโภคยอมรับ


 ข้อดีของธุรกิจ แฟรนไชส์

 1.   ชื่อตรา  ยี่ห้อ และชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาก่อน


2.   ได้รับความช่วยเหลือในด้านความรู้ต่างๆ  เช่น การวางแผน  วิธีการปฏิบัติงาน   การตลาด  การจัดซื้อ  เป็นต้น


3.   การควบคุมคุณภาพเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการที่มีมาตรฐาน ( มีคู่มือการปฏิบัติงาน )


4.   สัญญาต่างๆมีอยู่แล้วทำให้ได้รับความสะดวก


5.   ความช่วยเหลือทางการเงิน ( ขึ้นอยู่กับข้อตกลง ) และคำแนะนำในการกู้เงิน


6.   โปรแกรมการส่งเสริมการขายและการโฆษณาที่เจ้าของสิทธิดำเนินการ


7.   ลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการเริ่มต้นธุรกิจ


8.   มีโอกาสที่จะได้รับรายได้สูง


9.   ผลตอบแทนสูงกว่าการดำเนินธุรกิจด้วยตนเอง


 ข้อเสีย

1.   ไม่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ  เช่น  วัตถุดิบ  การจัดซื้อ  ซึ่งบางครั้งทำให้เสียโอกาสในการต่อสู้กับคู่แข่ง


2.   การต้องซื้อสินค้าจากผู้ให้สิทธิแม้ว่าการซื้อจากแหล่งอื่นๆจะได้ราคาที่ถูกกว่า


3.   กำไรต้องถูกแบ่งให้กับผู้ให้สิทธิเป็นเปอร์เซนต์หรือในอัตราคงที่ตามที่ตกลง


4.   ต้องจ่ายค่าสิทธิการค้า   เงินมัดจำ  ค่าอุปกรณ์  ค่าตกแต่ง  ค่าเครื่องหมายการค้า  ที่ค่อยๆสูงขึ้น


5.   ผู้ให้สิทธิอาจขาดการติดตามในเรื่องการฝึกอบรม


6.   ข้อจำกัดในสายผลิตภัณฑ์ คือ ผู้รับสิทธิไม่สามารถนำสินค้า หรือ บริการชนิดอื่นมาจำหน่าย  ยกเว้นจะได้รับความยินยอมจากผู้ให้สิทธิ


7.   บางเงื่อนไขในการขอรับสิทธิหรือซื้อสิทธิ อาจจะไม่ยุติธรรมต่อผู้รับสิทธิ


            ลักษณะของธุรกิจ แฟรนไชส์ ดังกล่าวข้างต้น   จึงเป็นโอกาสหรือช่องทางหนึ่งของผู้ที่คิดจะประกอบธุรกิจ   แต่ยังขาดประสบการณ์ จะได้มีโอกาสเริ่มต้นธุรกิจที่ดีเพราะเป็นเหมือนสูตรสำเร็จ  ที่มีผู้ให้คำปรึกษาแนะนำดีกว่าจะดำเนินธุรกิจตามลำพัง  โดยก่อนการตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจ แฟรนไชส์  เพื่อขอรับสิทธิหรือซื้อสิทธิในธุรกิจใดๆ  ควรศึกษาวิเคราะห์และประเมินความเป็นไปได้ในด้านต่างๆ ดังนี้

ประเมินเกี่ยวกับธุรกิจ

 1.      ควรศึกษาภูมิหลังของธุรกิจ แฟรนไชส์ นั้นว่า มีความน่าเชื่อถือ มีการจัดองค์กรที่ดี และมีสถานะทางการเงินที่น่าไว้วางใจ  เช่น  เป็นบริษัทที่มั่นคงหรือไม่  ดำเนินการมาแล้วนานเท่าไร  ไม่ใช่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินการ  เป็นกิจการที่มีกำไรแล้วหรือเริ่มมีกำไร


2.      ควรศึกษาเงื่อนไขของสัญญาทั้งหมดก่อน โดยศึกษาเปรียบเทียบกับรายอื่นๆ


3.      ควรศึกษาขั้นตอนของการดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวกับธุรกิจนี้ให้เข้าใจก่อน


4.      ควรพิจารณาในพื้นที่นั้นเราได้รับสิทธิเพียงรายเดียว หรือผู้ให้สิทธิสามารถขายสิทธิให้กับรายอื่นๆได้อีก


5.      ตรวจสอบก่อนว่า หากมีปัญหาสามารถบอกเลิกการขอรับสิทธิได้หรือไม่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรบ้างหรือไม่


6.      หากเราต้องการขายธุรกิจ  เราจะได้รับค่าตอบแทนในเรื่องค่าแห่งกู๊ดวิลล์หรือไม่ ( คุณค่าที่เกิดขึ้นภายในกิจการ ) หรือ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดเมื่อเราขายกิจการ


ประเมินด้านผู้ให้สิทธิ

 1.   ผู้ให้สิทธิให้เราดำเนินการรับสิทธิได้ในระยะเวลาเท่าใด


2.   มีข้อมูลผลการดำเนินงานของรายอื่นที่ได้รับสิทธิไปก่อนเราหรือไม่


3.   มีการช่วยเหลือในด้านต่างๆหรือไม่  เช่น  การฝึกอบรมด้านการจัดการธุรกิจ ฝึกอบรมพนักงาน  การให้เครดิต


4.   มีการช่วยหาทำเลที่ตั้งสำหรับธุรกิจเราหรือไม่


5.   มีฐานะทางการเงินเพียงพอสำหรับแผนการช่วยเหลือและการขยายธุรกิจที่แน่นอนหรือไม่


6.   ผู้ให้สิทธิเป็นเจ้าของธุรกิจคนเดียวหรือเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ทางการบริหาร  และมีความน่าเชื่อถือ หรือไม่  เพียงใด


7.   ผู้ให้สิทธิสามารถช่วยในสิ่งที่เราทำไม่ได้หรือไม่


8.   ผู้ให้สิทธิมีการลงทุนอย่างระมัดระวังที่ทำให้แน่ใจได้ว่าจะประสบความสำเร็จ  ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกิจ แฟรนไชส์ สำเร็จและได้รับกำไรร่วมกัน


9.   การให้สิทธิในการขายสินค้าหรือบริการต่างๆ มีการดำเนินการตามกฏหมายอย่างถูกต้องหรือไม่


ประเมินด้านการเป็นผู้ขอรับสิทธิหรือซื้อสิทธิ

1.   ต้องใช้ทุนในการดำเนินงานเท่าไร  จนสามารถมีรายได้เท่ากับรายจ่ายและมีโอกาสได้กำไรในระยะเวลาไม่นานนัก  อีกทั้งจะหาเงินทุนนั้นได้จากที่ใด


2.   เรามีความเชื่อมั่นในความสามารถที่เรามีอยู่มากน้อยเพียงใด  การฝึกอบรมที่จะได้รับและประสบการณ์จะทำให้เราสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและมีกำไร  หรือไม่


3.   เรามีเป้าหมายในการทำธุรกิจหรือไม่  มีความพร้อมที่จะใช้เวลาที่มีอยู่ใช้ชีวิตเป็นนักธุรกิจกับผู้ให้สิทธิ และมีความพร้อมในการเสนอขายสินค้าและบริการสู่ชุมชน  หรือไม่ เพียงใด  เพราะการทำธุรกิจต้องมีการบริหารคน  บริหารความคิด  และต้องมีการพิจารณารายละเอียดต่างๆของธุรกิจ ซึ่งรวมทั้งต้องมีการวางแผนการทำธุรกิจอีกด้วย


4.   ทำเลที่ตั้งของธุรกิจ  ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับลักษณะของธุรกิจ เช่น ธุรกิจค้าปลีก  ค้าส่ง  ธุรกิจบริการ และธุรกิจการผลิต  ทำเลจะมีความแตกต่างกัน  อันจะส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของธุรกิจนั้นๆ


การประเมินด้านตลาด

1.   พื้นที่บริเวณนั้นประชากรจะเพิ่มขึ้น  คงที่ หรือ ลดลง หรือไม่  ภายใน 5 ปีข้างหน้า


2.   ธุรกิจที่เราเลือกจะมีความต้องการมากขึ้น เหมือนเดิม หรือ ลดลง ภายใน 5 ปี ข้างหน้า


3.   ธุรกิจของเรามีความพร้อมที่จะแข่งขันในพื้นที่นั้น หรือไม่


 

SMEs Plannet
โดย :  นิมิตร วงศ์จันทร์   
More about

เขียนโดย SMEs Plannet Thailand

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs กู้เงิน จากธนาคารไม่ได้ อันประกอบด้วยปัจจัยจำนวน 5 ปัจจัย ซึ่งเรียกปัจจัยดังกล่าวว่า “4ไม่ 1 มี” อันประกอบด้วย

1.ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน


2.ไม่มีประสบการณ์แต่เล็งผลเลิศ


3.ไม่มีรายได้ให้ปรากฏ


4.ไม่มี Business Plan หรือแผนธุรกิจ และ


5.มีประวัติหนี้ NPL


          ซึ่งบทความดังกล่าวก็ได้ถูกนำไปเผยแพร่ ดัดแปลง แก้ไขในรายละเอียดบางส่วนจากหลายหน่วยงานเพื่อเผยแพร่ต่อผู้ประกอบการ ซึ่งจากเวลาที่ผ่านมาผู้เขียนเห็นว่าในข้อเท็จจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆที่จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs ไม่สามารถที่จะ กู้เงิน จากธนาคารได้อื่นๆอีก ซึ่งอาจไม่ถูกกล่าวถึงไว้แต่เดิม ดังนั้นผู้เขียนจึงเห็นสมควรปรับปรุงเนื้อหาและรายละเอียดต่างๆของบทความ ให้เหมาะสมและทันสมัยยิ่งขึ้นตรงกับสภาวะปัจจุบัน โดยนำรายละเอียดเดิมที่เขียนขึ้นมาเรียบเรียงและปรับปรุง รวมถึงเพิ่มเติมรายละเอียดของปัจจัยอื่นๆอีก 5 ปัจจัยซึ่งก็เป็นอีกปัจจัย “4ไม่ 1 มี” เช่นเดียวกัน โดยใช้หัวข้อบทความ 10 ปัจจัยที่ทำให้ผู้ประกอบการ กู้เงิน จากธนาคารไม่ได้ โดยตัด SMEs ออกเพราะเป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็อาจมีอยู่ เพื่อให้ผู้ประกอบการพิจารณาดูว่าผู้ประกอบการหรือธุรกิจของผู้ประกอบการมีปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดอยู่บ้างหรือไม่ หรือมีทั้งหมดทุกปัจจัย จะได้ทราบว่าท่านซึ่งเป็นผู้ประกอบการจะมีโอกาสที่จะได้รับคำปฏิเสธ หรือต้องได้รับคำปฏิเสธจากธนาคารอย่างแน่นอนในการขอ กู้เงิน เพื่อที่จะได้จัดการแก้ไขไม่ให้มีปัจจัยดังกล่าวอยู่ในตัวของท่านหรือธุรกิจก่อนที่ไปขอ กู้เงิน จากทางธนาคาร โดยปัจจัยดังกล่าวทั้ง 10 ประการประกอบด้วย

1.  ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ถือเป็นปัจจัยส่วนใหญ่หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยมาตราฐานของการขอสินเชื่อไม่ได้ของผู้ประกอบการ เนื่องจากในระบบธนาคารหรือสถาบันการเงินใดก็ตามจำเป็นต้องมีการเรียกหลักประกันสำหรับค้ำประกันสินเชื่อทั้งสิ้น เพียงแต่หลักประกันที่ธนาคารเรียกเพื่อการค้ำประกันสินเชื่อนั้นจะอยู่ในรูปแบบใดเท่านั้นเอง) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่มักเป็นรายเล็กๆซึ่งกำลังจะเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ หรือถ้าเริ่มดำเนินธุรกิจก็มักจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ยังไม่มีฐานะการเงินที่มั่นคงเพียงพอที่จะมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจได้กับธนาคาร เช่น โฉนดที่ดิน, บ้าน,ห้องชุด หรือถ้าผู้ประกอบการมีอยู่แล้วซึ่งก็มักจะเป็นบ้านพักอาศัยก็มักจะติดจำนองกับธนาคารในลักษณะของสินเชื่อเคหะ ซึ่งไม่สามารถนำมาจำนองเพิ่มเติมได้ แม้ว่าจะมีธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.-SME Bank) หรือ ธนาคารออมสิน จะจัดโครงการสินเชื่อที่ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โครงการสินเชื่อFast Track หรือ โครงการสินเชื่อห้องแถว โดยเป็นการใช้บุคคลค้ำประกันแทนการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจะมีวงเงินตั้งแต่ 50,000 – 300,000 บาท โดยการใช้ข้าราชการระดับตั้งแต่ C6-C8 หรือพนักงานผู้มีรายได้ประจำเป็นผู้ค้ำประกันสำหรับโครงการสินเชื่อ Fast Track แต่ในความเป็นจริงแล้วการที่ผู้ประกอบการจะหาผู้ค้ำประกันในคุณสมบัติตามที่กำหนดนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะได้ตามเกณฑ์ดังกล่าว หรือในกรณีที่ต้องการขอวงเงินสินเชื่อถึง 500,000 บาท โดยไม่ใช้หลักทรัพย์มาค้ำประกัน ก็ต้องให้นิติบุคคลซึ่งก็ต้องมีคุณสมบัติตามที่ธนาคารกำหนดเช่นเดียวกันซึ่งอาจเป็นเรื่องยากกว่าการใช้บุคคลค้ำประกันเสียอีก โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินสินเชื่อที่ผู้ประกอบการต้องการซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ระหว่าง 200,000-300,000 บาทขึ้นไปจนถึง 1,000,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเกือบทั้งสิ้น (สำหรับธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปแม้ว่าจะมีโครงการสินเชื่อเพื่อ SMEs แต่ทั้งหมดจำเป็นต้องมีการใช้หลักทรัพย์รูปแบบหนึ่งรูปแบบใดในการค้ำประกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วหลักประกันจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ อันได้แก่ ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้าง รองลงมาก็อาจจะเป็นเครื่องจักร อุปกรณ์ เป็นต้น สำหรับการใช้บุคคลค้ำประกันก็นับเป็นหลักประกันชนิดหนึ่งเพราะถ้าเกิดกรณีผู้กู้ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ ผู้ค้ำประกันก็มีหน้าที่ที่จะต้องชำระเงินกู้แทนผู้กู้หรือชำระหนี้แทน ซึ่งก็จะมีสภาพเดียวกันกับการขายทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันเพื่อชำระหนี้นั่นเอง) นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันโครงการการให้กู้สำหรับผู้ประกอบการโดยใช้บุคคลค้ำประกันมักพบว่า ผู้ประกอบการไม่สามารถผ่อนชำระหรือผิดนัดชำระในสัดส่วนค่อนข้างมาก ซึ่งทำให้เกิดกรณีที่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบในภาระหนี้แทนผู้กู้ และเป็นภาระเกี่ยวกับเรื่องหนี้เสียของธนาคารผู้ปล่อยกู้ จึงปรากฏว่าในปัจจุบันมักจะไม่มีการอนุมัติสินเชื่อในรูปแบบดังกล่าวนัก และการหาผู้ค้ำประกันก็เป็นเรื่องลำบาก เนื่องจากการเกิดการผิดนัดชำระจนทำให้ผู้ค้ำประกันต้องมารับภาระหนี้ดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการกู้เงินสำหรับสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยมักจะเข้าใจว่าสามารถผ่อนได้ระยะยาวและอัตราดอกเบี้ยอยู่ในเกณฑ์ต่ำเหมือนสินเชื่อเคหะ ตามที่ได้รับทราบจากการแข่งขันของสินเชื่อเคหะหรือสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยจากธนาคารพาณิชย์ในตลาดที่โฆษณาผ่านหน้าหนังสือพิมพ์หรือทางวิทยุหรือสื่อต่างๆ คือผ่อนได้ 10-15 ปี หรือดอกเบี้ยประมาณ 4-5% ต่อปี เป็นต้น ทำให้เมื่อผู้ประกอบการทำการติดต่อขอสินเชื่อกับทางธนาคาร ในกรณีที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น โครงการสินเชื่อ Fast Track ที่มีกำหนดระยะเวลาการให้กู้ 3 ปี และอัตราดอกเบี้ย 10% ต่อปี ก็มักจะบ่นว่าให้กู้ในระยะเวลาสั้นเกินไป และดอกเบี้ยแพงเกินไป เป็นต้น ทั้งที่ลักษณะของสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจ กับสินเชื่อเคหะนั้นมีความแตกต่างกันในโครงสร้างของลักษณะการใช้วงเงินสินเชื่ออยู่แล้ว นอกจากนี้ในกรณีที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันนั้น ผู้ประกอบการมักจะคิดว่าธนาคารจะปล่อยกู้ 100% ของมูลค่าตลาดหรือราคาทรัพย์สินซึ่งก็มาจากความเข้าใจเช่นเดียวกันกับสินเชื่อเคหะ ในขณะที่ธนาคารจะต้องมีการให้ทำการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งอาจทำการประเมินราคาโดยหน่วยงานภายในของธนาคาร หรือโดยบริษัทประเมินราคาอิสระ ซึ่งราคาประเมินที่ได้อาจมีความแตกต่างจากความคาดหวังของผู้ประกอบการ เช่น ราคาประเมินทรัพย์สินที่ได้ทำการประเมินราคาคือ 1,500,000 บาท ในขณะที่ผู้ประกอบการบอกว่าสมัยที่ตนซื้อทรัพย์สินหรือราคาของทรัพย์สินนั้น คือ 2,000,000 บาท เป็นต้น ราคาที่แตกต่างกันนี้เกิดมาจากการลดลงของระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ผ่านมา แม้ว่าในปัจจุบันภาวะของตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเติบโตและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาของอสังหาริมทรัพย์ในทุกๆแห่งหรือทุกๆทำเลจะกลับมามีราคาเช่นเดิม นอกจากนี้วงเงินสินเชื่อที่ให้ก็ไม่ได้ให้ 100% ของราคาประเมินทรัพย์สิน โดยอาจอยู่ระหว่าง 70-80% ของราคาประเมินเท่านั้น ในกรณีที่ให้ถึง 100% ของราคาประเมินนั้นถือว่าแทบจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ว่าได้ (หรือถ้ามีอาจจะมาจากการประเมินราคาเพียง 70-80% ของราคาตลาด) โดยระยะเวลาการให้กู้ก็จะอยู่ระหว่าง 5-7 ปี โดยอัตราดอกเบี้ยก็จะเป็น MLR + ซึ่งอาจจะอยู่ระหว่าง 6-8% ต่อปีหรือมากกว่า ตามความเสี่ยงของธุรกิจที่ธนาคารกำหนดขึ้นจากการพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะและการดำเนินการของธุรกิจ ซึ่งก็จะมีเรื่องบ่นจากผู้ประกอบการถึงเรื่องของระยะเวลาในการให้กู้กับอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดจากผู้ประกอบการ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับการไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และวงเงินที่ธนาคารสามารถให้กู้ได้ ไม่เพียงพอกับวงเงินที่ผู้ประกอบการต้องการเมื่อมีการคำนวณในเรื่องของการผ่อนชำระ

2.  ไม่มีประสบการณ์แต่เล็งผลเลิศ

ถือเป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ผู้ประกอบการใหม่หลายรายมักจะได้รับคำปฏิเสธจากธนาคาร กล่าวคือในการเริ่มดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะมาจากความชอบส่วนตัวหรือแรงบันดาลใจจากที่ใดก็ตาม เช่น จากหนังสือเกี่ยวกับ SMEs, จากหนังสือพิมพ์, จากการไปเห็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะเกิดความคิดที่ว่า “ถ้าเป็นเรา...ก็น่าจะทำได้” เช่น ไปเห็นร้านกาแฟหรือร้านเบเกอรี่มีลูกค้าเต็มร้าน ก็คิดว่าถ้าเป็นตนเองก็น่าจะเปิดร้านกาแฟหรือร้านเบเกอรี่บ้างแล้วมีลูกค้าแน่นร้านเหมือนผู้อื่นได้ ทั้งๆที่ตนเองไม่ชอบกินกาแฟหรือไม่มีความรู้ในการทำเบเกอรี่มาก่อนเลย หรือได้ยินว่าในช่วงนี้รัฐบาลส่งเสริมในเรื่องของการส่งออกก็เลยคิดว่าจะเริ่มทำธุรกิจส่งออกทั้งๆที่ยังไม่เคยผลิตสินค้าใดๆมาก่อน หรือเคยทำธุรกิจส่งออก หรือแม้แต่ทำธุรกิจกับคนไทยด้วยกันเองเลย โดยรอความหวังว่ารัฐจะต้องเป็นผู้ให้การสนับสนุนแก่ตนเองในฐานะผู้ประกอบการ เป็นต้น โดยไม่มีการศึกษาให้รู้แจ้งเห็นจริงในธุรกิจที่ตนเองจะทำ หรือไม่เคยลองทำดูสักช่วงหนึ่งมาก่อนว่ามีปัญหาใดบ้างในการดำเนินการหรือเป็นไปตามประมาณการที่ตั้งไว้หรือไม่ ทั้งนี้อาจเนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมแบบ Me Too หรืออาจจะเรียกว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะมีลักษณะเป็น Me Too Business คือถ้าธุรกิจอะไรดี ฉันขอทำด้วย ทำให้เมื่อผู้ประกอบการติดต่อขอสินเชื่อกับทางธนาคาร และเจ้าหน้าที่สินเชื่อได้ทำการพิจารณาในเรื่องของของประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ จะพบว่าผู้ประกอบการใหม่เหล่านี้ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริงเกี่ยวกับสินค้าหรือธุรกิจที่ตนเองจะเริ่มทำ หรือมักจะเป็นการเล็งผลเลิศหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นความฝันของผู้ประกอบการคือคำว่า “ถ้าได้ตามที่คิด” คือ จะต้องมีลูกค้าจำนวนเท่าโน้นเท่านี้ จะมีรายได้เป็นเท่าโน้นเท่านี้ เป็นต้น โดยไม่เคยคิดว่าแล้วถ้าไม่ได้ตามที่คาดว่าไว้ตนเองหรือธุรกิจจะทำอย่างไร ในขณะที่การพิจารณาในการให้สินเชื่อโดยส่วนใหญ่จะตั้งบนพื้นฐานว่า “ถ้าไม่ได้ตามที่คาด” แล้วธุรกิจจะเป็นอย่างไร ผู้กู้หรือธุรกิจจะมีความสามารถในการผ่อนชำระคืนสินเชื่อกับทางธนาคารได้หรือไม่ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแนวความคิดที่ดูแล้วสวนทางกันโดยสิ้นเชิงระหว่างผู้ขอกู้กับธนาคาร กล่าวคือผู้ประกอบการจะคิดเพียงแต่ว่าทำธุรกิจแล้วจะต้องได้รับผลกำไรไม่เช่นนั้นแล้วจะทำธุรกิจไปทำไม โดยจะไม่มีผู้ประกอบรายใดเลยที่มีความความคิดว่าจะมาขอ กู้เงิน จากธนาคารเพื่อไปทำธุรกิจให้ขาดทุน เรียกได้ว่าผู้ประกอบการจะมีความคิดเป็น Best Case อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารจะมีแนวโน้มทางความคิดว่า ถ้าผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อไปดำเนินธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดจะเป็นอย่างไร หรืออาจจะเรียกได้ว่าถ้าแย่ที่สุดจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งอาจเรียกว่ามีความคิดเป็น Worst Case หรืออย่างน้อยก็เป็นอย่างที่มันควรจะเป็นหรือมีความคิดเป็นแบบที่เรียกว่า Most Likely ซึ่งถ้าผู้ประกอบการที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนในการทำธุรกิจที่ขอ กู้เงิน มาก่อน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการที่มีแนวความคิดเกี่ยวกับการทำธุรกิจที่หลากหลายมากมาย อยากจะทำธุรกิจหลายๆอย่างพร้อมกัน เพราะเห็นว่าแต่ละธุรกิจที่ตนคิดขึ้นล้วนแล้วแต่สามารถเติบโตหรือสามารถสร้างผลกำไรเป็นอย่างมากสำหรับตนเอง รวมถึงกลัวการเสียโอกาสถ้าตนไม่ทำธุรกิจที่คิดไว้ในตอนนี้เพราะอาจมีผู้อื่นหรือคู่แข่งแย่งทำธุรกิจในลักษณะเดียวกันไปก่อน โดยเฉพาะการเล็งแต่ผลเลิศในการทำธุรกิจที่ตนเองยังไม่เคยทำแล้ว เจ้าหน้าที่สินเชื่อมักจะปฏิเสธการให้วงเงินสินเชื่อกับผู้ประกอบการในลักษณะนี้ แม้จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันครบถ้วนทุกอย่างเนื่องจากผู้ประกอบการจะไม่สามารถกำหนด หรือระบุแนวทางในการดำเนินธุรกิจตัวใดตัวหนึ่งที่ชัดเจนได้เนื่องจากความคิดในการทำธุรกิจที่มีจนมากมายเกินไป และการที่ธนาคารพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ประกอบการดังกล่าวอาจไม่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจให้อยู่รอดตลอดรอดฝั่ง ซึ่งจะเป็นผลทำให้เกิดหนี้เสียขึ้นได้ในอนาคต

3.  ไม่มีรายได้ให้ปรากฏ

สิ่งนี้ก็ถือเป็นเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้สำหรับผู้ประกอบการ โดยทั่วไปไม่ว่าจะเป็นรายที่เริ่มจะดำเนินการมาไม่นาน หรือได้ดำเนินการมาเป็นเวลาเนิ่นนานแล้วกล่าวคือ มักจะไม่มีการนำรายได้หรือรายจ่ายในการทำธุรกิจผ่านระบบธนาคาร โดยมักจะเป็นการซื้อขายกันด้วยเงินสดหักลบกลบหนี้กันแต่ละวัน โดยอาจเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันนั้นมีอัตราที่ต่ำมาก การจะเข้าบัญชีธนาคารหรือไม่ก็มีผลเท่ากันแถมยังต้องเสียเวลาไปเข้าหรือเบิกถอนจากธนาคาร และยังไม่สะดวกที่จะทำการเบิกถอนในวันเสาร์-อาทิตย์อีกในขณะที่ตนเองต้องทำธุรกิจทุกวัน ที่ดีขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเข้าบัญชีออมทรัพย์ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นบัญชีออมทรัพย์ในชื่อของเจ้าของ แต่ก็มักจะผสมปนเปกันกันไประหว่างค่าใช้จ่ายส่วนตัวกับค่าใช้จ่ายหรือรายได้จากการดำเนินธุรกิจเพราะถือว่าเป็นกระเป๋าเดียวกัน จะมีเพียงน้อยรายที่เปิดบัญชีในนามห้างร้านหรือชื่อธุรกิจที่ตนทำและแยกการใช้จ่าย ระหว่างรายได้หรือค่าใช้จ่ายทางธุรกิจกับรายได้หรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวอย่างชัดเจน (ในส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแล้วเกือบทั้งหมด มักจะเปิดบัญชีในนามห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทเพราะต้องมีการสั่งจ่ายเช็ค และมักจะมีระบบบัญชีที่มีระบบกว่าผู้ประกอบ SMEs โดยส่วนใหญ่ทั่วไป) หรือผู้ประกอบการบางรายกลัวว่าการนำเงินรายได้ของธุรกิจไปเข้าธนาคาร จะกลายเป็นหลักฐานให้สรรพากรรู้ว่าตนเองมีรายได้เท่าใดแล้วทำให้ตนเองต้องเสียภาษี ซึ่งอาจมาจากการที่ตนเองไม่แจ้งแบบการชำระภาษี หรือประกาศตัวว่าเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือเพื่อให้ตนเองเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริงหรือไม่ต้องเสียภาษีเลย ทำให้เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้มีความจำเป็นไปติดต่อขอ กู้เงิน จากธนาคาร ซึ่งทุกธนาคารทั้งของภาครัฐและเอกชนซึ่งจะมีเงื่อนไขมาตราฐานในการขอ กู้เงิน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น “ไฟท์บังคับ” ที่ธนาคารต้องขอเอกสารจากผู้ขอกู้เพื่อการพิจารณาสินเชื่อ กล่าวคือ ขอดูการเคลื่อนไหวทางการเงินกับธนาคารย้อนหลังอย่างน้อย 6 เดือน หรือขอดูบัญชีในสมุดคู่ฝากธนาคารหรือที่เรียกกันว่าขอดู Statement ย้อนหลังไป 6 เดือนว่าธุรกิจมีรายรับ-รายจ่ายและเงินคงเหลือหรือผลกำไรเป็นเท่าใด เพื่อพิจารณาว่ารายได้คงเหลือในการดำเนินธุรกิจสามารถผ่อนชำระคืนกับทางธนาคารตามวงเงินที่ขอกู้ได้หรือไม่ ซึ่งผู้ประกอบการที่ไม่ได้นำเงินจากธุรกิจเข้าระบบบัญชีธนาคารก็มักจะไม่สามารถแสดงให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเห็นได้ว่า ธุรกิจของตนมีรายได้ตามที่แจ้งให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อทราบทราบเกี่ยวกับรายได้จากการทำธุรกิจ เช่น แม้ว่าธุรกิจหักลบกลบหนี้ระหว่างรายรับ-รายจ่ายแล้วมีกำไรจากการทำธุรกิจเหลือเดือนละ 50,000 บาท แต่ในบัญชีธนาคารมีเงินคงเหลือในแต่ละเดือนเพียงเดือนละ 5,000 บาท ก็เป็นการยากที่จะทำให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเชื่อได้ว่าธุรกิจที่ผู้กู้ทำจะมีรายได้เท่าที่ผู้กู้แจ้งให้ทราบ  เพราะไม่หลักฐานในการยืนยันถึงรายได้จากการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการถูกปฏิเสธในการให้กู้จากธนาคารของผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบัน เมื่อต้องไปขอกู้ในการขยายธุรกิจหรือขอเงินทุนหมุนเวียนทั้งที่ผู้ประกอบการมีหลักทรัพย์ค้ำประกันครบถ้วน มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และรายได้จากธุรกิจก็เกิดขึ้นจริงตามที่ผู้ประกอบการแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่สินเชื่อทราบ แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงหลักฐานถึงการเข้าออกของรายได้ให้ปรากฏก็มักจะได้รับคำปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อในการให้กู้ ที่ดีหน่อยก็อาจจะได้รับคำแนะนำว่าให้ผู้ประกอบการไปเดินบัญชีกับธนาคารซัก 6 เดือนแล้วค่อยมาดำเนินการขอกู้อีกครั้ง

4.  ไม่มี Business Plan หรือแผนธุรกิจ

การมีหรือการจัดทำ Business Plan หรือแผนธุรกิจนี้ถือเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่จะมีผลให้ผู้ประกอบการสามารถ กู้เงิน จากธนาคารได้สำเร็จตามที่ต้องการ หรืออาจจะทำให้ได้รับคำปฏิเสธใน กู้เงิน จากทางธนาคารก็ได้เช่นเดียวกัน โดยเกือบทุกธนาคารถ้าเป็นการขอกู้เพื่อการทำธุรกิจทางธนาคารจะขอให้ผู้ประกอบการทุกรายจัดทำ Business Plan หรืออาจจะใช้คำพูดว่าเสนอโครงการเข้ามา ซึ่งถือเป็นเอกสารประกอบในการพิจารณาสินเชื่อว่าธุรกิจมีลักษณะในการดำเนินการอย่างไร รายรับ-รายจ่ายเป็นเท่าใด การลงทุนในธุรกิจ จุดคุ้มทุน ผลกำไรของธุรกิจเป็นเท่าใดโดยเฉพาะการดำเนินการของธุรกิจต่อไปในอนาคต (ซึ่งในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำและความสำคัญของแผนธุรกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการ ซึ่งมีหลายเรื่องและหลายหัวข้อ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญโดยจะกล่าวถึงในโอกาสต่อไปในส่วนของความสำคัญของแผนธุรกิจ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักจะจัดทำแผนธุรกิจเฉพาะตอนที่จะติดต่อขอกู้กับทางธนาคารเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการมีความสำคัญ และความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจมากกว่าที่จะไว้ใช้เฉพาะตอนจะขอ กู้เงิน กับธนาคารเสียอีก) ผู้ประกอบการส่วนใหญ่โดยเฉพาะรายเล็กจะมีปัญหาในเรื่องของการจัดทำแผนธุรกิจนี้มาก เรียกได้ว่าเป็นยาขมหม้อใหญ่สำหรับผู้ประกอบการเลยทีเดียวซึ่งมักจะเกิดจากว่าไม่รู้จะเขียนให้เป็นขั้นตอนที่ถูกต้องได้อย่างไร โดยอาจจะแจ้งให้กับทางเจ้าหน้าที่สินเชื่อทราบว่าถ้าจะให้อธิบายถึงธุรกิจของตนสามารถอธิบายได้ทุกขั้นตอน แต่ถ้าจะให้จัดทำหรือเขียนออกมาเป็นรูปเล่มตนเองไม่สามารถที่จะเขียนออกมาหรือจัดทำได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ถ้าเขียนเองก็จะเขียนตามความเข้าใจของตนและส่วนใหญ่มักจะมีความสับสนในหัวข้อหรือรายละเอียดต่างๆ จนทำให้เจ้าหน้าที่สินเชื่อเมื่อพิจารณาจากรายละเอียดที่ระบุในแผนธุรกิจที่ผู้ประกอบการจัดทำอย่างไม่มีระบบ อาจพบว่าเป็นคนละเรื่องกับจากการสัมภาษณ์หรือการให้ข้อมูลของผู้ประกอบการไปเลยก็มี โดยเหตุผลของการจัดทำแผนธุรกิจตามที่กล่าวมาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ธุรกิจจากผู้เกี่ยวข้องในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่ได้พูดคุยสัมภาษณ์ผู้ประกอบการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่สินเชื่อคนนั้นหรือคณะกรรมพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของทางธนาคาร ดังนั้นเมื่อบุคคลเหล่านั้นได้อ่านข้อมูลของธุรกิจที่ขอกู้จากแผนธุรกิจที่จัดทำขึ้น ก็จะวิเคราะห์ตามรายละเอียดที่ปรากฏซึ่งอาจเป็นทั้งด้านบวกหรือด้านลบในการอนุมัติสินเชื่อก็ได้ เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ได้พูดคุยหรือรับรู้ข้อมูลจากผู้ประกอบการโดยตรง โดยในบางครั้งกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ได้เขียนแผนธุรกิจด้วยตนเองโดยอาจว่าจ้างบุคคลหรือบริษัทที่รับจ้างทำแผนธุรกิจหรืออาจเรียกว่า “มืออาชีพ” ในการเขียนแผนเพื่อที่จะไปเสนอต่อธนาคารเพื่อขอ กู้เงิน แต่ตนเองไม่เคยเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับแผนธุรกิจที่ว่าจ้างมืออาชีพเหล่านี้จัดทำขึ้นเลย ก็จะกลายเป็นว่าเมื่อถูกซักถามในรายละเอียดในแผนธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลขต่างๆที่ปรากฏในเรื่องของการเงินก็มักจะไม่สามารถตอบคำถามดังกล่าวได้ ซึ่งจะกลายเป็นผลเสียยิ่งกว่าการไม่มีแผนธุรกิจเสียอีกสำหรับการพิจารณาจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ซึ่งก็อาจจะมีผู้ประกอบการบางรายแย้งว่าข้อมูลหรือประมาณการในแผนธุรกิจจะใส่ข้อมูลอย่างไรก็ได้เพื่อให้ดูดีหรือจะกล่าวง่ายๆก็คือ “จะยกเมฆอย่างไรก็ได้” เพื่อให้ธุรกิจดูดีมีผลกำไร แต่ผู้ประกอบการจงอย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่สินเชื่อที่พิจารณาสินเชื่อเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความรู้ ความชำนาญ ในการพิจารณาสินเชื่อ ในการมองธุรกิจ ซึ่งไม่ใช่การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการเฉพาะดูจากข้อมูลในแผนธุรกิจที่เสนอมาเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่สินเชื่อจะดูจากองค์ประกอบอื่นๆอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ตัวผู้ประกอบการ ประสบการณ์ ความเป็นไปได้ของธุรกิจ อัตราผลตอบแทนในตลาด ลักษณะรายรับ-รายจ่าย ผลกำไร รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆในการอนุมัติหรือไม่อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งผู้ประกอบการควรระลึกไว้ว่าการจัดทำ Business Plan หรือแผนธุรกิจที่ไม่ดีหรือไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านถูกปฏิเสธการให้กู้จากทางธนาคารได้ แม้ว่าท่านจะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันครบถ้วน, มีความรู้และประสบการณ์ในการทำธุรกิจ หรือสามารถแสดงรายได้ให้ปรากฏได้ก็ตาม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจในแผนธุรกิจที่เขียนขึ้นเองหรือว่าจ้างผู้อื่นเขียนอย่างถ่องแท้ ก่อนที่จะไปติดต่อกับทางธนาคารถ้าท่านไม่ต้องการได้รับคำปฏิเสธ

5.  มีประวัติหนี้ NPL 

          การเป็นหรือเคยมีประวัติว่าเป็น NPL (Non Performing Loan) นั้น ปัจจัยข้อนี้แทบจะถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักในการปฏิเสธการให้กู้จากธนาคารเกือบ 100% โดยทั้งที่จริงแล้วแม้ว่าผู้ประกอบการจะเคยเป็น NPL ตั้งแต่สมัยยุคฟองสบู่แตก ไม่ว่าจะเป็นหนี้การกู้บ้าน, บัตรเครดิต หรือหนี้อะไรก็ตาม แต่ในปัจจุบันได้เริ่มต้นทำธุรกิจหรือดำเนินธุรกิจต่อมาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้ว เริ่มมีรายได้เพียงพอที่จะสามารถชำระหนี้ที่เคยเป็นอยู่ได้ แต่ทว่าเนื่องจากประวัติของผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบข้อมูลเครดิตจะแสดงผลของชื่อผู้ประกอบการนั้นอยู่เสมอ ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระหนี้ที่มีอยู่จนหมด ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการในเรื่องของการใช้สินเชื่อหรือข้อมูลทางการเงิน เช่นCredit Bureau หรือบริษัทข้อมูลเครดิต จะปรากฏชื่อของผู้ประกอบการในฐานะลูกค้าที่เป็น NPL หรือเป็นหนี้เสีย โดยเฉพาะลูกหนี้ที่ไม่มีการติดต่อกับทางธนาคารเจ้าหนี้ หรือไม่เคยทำสัญญาประนีประนอมหรือสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยอาจคิดว่าถ้าธนาคารอยากยึดหลักประกันก็ให้ยึดไป หรือคิดว่าเอาไว้ให้มีเงินก่อนแล้วค่อยติดต่อเพราะกว่าจะพิพากษาคดีเสร็จก็หลายปี เมื่อเจ้าหน้าที่สินเชื่อตรวจพบข้อมูลของผู้ประกอบการในลักษณะนี้ก็จะปฏิเสธการให้กู้แทบจะทุกรายไป เพราะถือว่าผู้ประกอบการดังกล่าวเป็นผู้ไม่มีวินัยทางการเงินในการชำระคืนสินเชื่อกับทางธนาคาร ซึ่งก็อาจจะเกิดขึ้นได้กับสินเชื่อใหม่ที่ทางธนาคารจะให้กับผู้ประกอบการเช่นเดียวกัน โดยแม้ว่าบางธนาคารจะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ว่าถึงผู้ประกอบการจะเป็นหนี้ NPL ก็สามารถติดต่อขอกู้ได้ แต่นั่นหมายความว่าผู้ประกอบการนั้นจะต้องได้ทำสัญญาประนีประนอมหรือทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และจะต้องได้ผ่อนชำระกับธนาคารเจ้าหนี้เดิมได้ตามสัญญามาเป็นระยะเวลาพอควร (ซึ่งมักจะไม่บอกไว้ในโฆษณาว่าคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่เคยเป็น NPL ต้องเป็นอย่างนี้ถึงจะสามารถขอกู้ได้ และในการอนุมัติจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาในเรื่องต่างๆจะมากกว่าผู้ประกอบการที่ไม่เคยเป็นหนี้ NPL อยู่หลายประเด็น) หรือบางครั้งในบางธนาคารก็อาจให้คำแนะนำโดยแจ้งให้กับผู้ประกอบการทราบว่า ให้ไปปิดหนี้หรือทำการชำระหนี้ที่เป็น NPL ให้หมดเสียก่อนธนาคารถึงจะสามารถให้ผู้ประกอบการกู้ตามที่ต้องการได้ ซึ่งดูแล้วก็ไม่เห็นจะสมเหตุสมผลเลยในการได้รับคำแนะนำแบบนี้ เพราะถ้าผู้ประกอบการมีเงินเพียงพอที่จะปิดหนี้หรือชำระหนี้ที่เป็น NPL แล้วก็ไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะต้องมาขอ กู้เงิน จากธนาคาร เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วจำนวนเงินที่เพียงพอที่จะปิดหนี้หรือชำระหนี้ที่เป็นNPL เดิมให้หมดจะมากกว่าวงเงินสินเชื่อที่ขอกู้ใหม่จากธนาคารเสียอีก ดังนั้นผู้ประกอบการที่เป็น NPL หรือเคยเป็นถ้าต้องการ กู้เงิน จากธนาคารก็ต้องปรับปรุงคุณสมบัติให้เข้าเกณฑ์ หรือเรียกว่าต้องเอาตัวเองหรือเอาธุรกิจใส่ตระกร้าล้างน้ำเพื่อให้ประวัติของตนเองเปลี่ยนจากดำเป็นขาวหรืออย่างน้อยแค่เทาๆก็ยังดี มิฉะนั้นแม้ว่าท่านจะมีคุณสมบัติอื่นๆครบถ้วนแต่มีปัจจัยในเรื่องของ NPL เพียงเรื่องเดียว ท่านก็จะมีโอกาสได้รับการปฏิเสธจากทางธนาคารอยู่ในเกณฑ์สูงมากเลยทีเดียว

6.  ไม่รู้ต้นทุนหรือไม่รู้รายได้ 

          ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ “มือใหม่” ซึ่งจะไม่ค่อยปรากฏกับผู้ประกอบการที่ได้เคยทำธุรกิจมาแล้ว เนื่องจากไม่สามารถคำนวณต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์ การตกแต่งปรับปรุง หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เช่น ค่าธรรมเนียม เงินเดือน ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการซื้อสินค้า ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าประชาสัมพันธ์ เป็นต้น ทั้งก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ ช่วงเริ่มต้นธุรกิจ และช่วงที่เริ่มดำเนินการธุรกิจแล้ว ซึ่งโดยส่วนใหญ่การประมาณการเกี่ยวกับต้นทุนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่ดังกล่าว มักจะต่ำกว่าความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างมาก หรือจะเป็นในทางที่คิดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในทางที่น้อยที่สุด ในขณะที่เมื่อเริ่มทำธุรกิจไปแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายมักจะเป็นไปในทางที่มากที่สุดอยู่เสมอหรืออาจจะเรียกว่า “งบบานปลาย” ทำให้เมื่อทางธนาคารพิจารณาเกี่ยวกับโครงการหรือธุรกิจที่ขอกู้แล้วเห็นว่าต้นทุนของธุรกิจที่ระบุไว้ดังกล่าว ต่ำเกินกว่าที่ธุรกิจในลักษณะดังกล่าวโดยทั่วไปจะดำเนินการได้จริงตามที่ระบุไว้ ทำให้ธนาคารอาจที่จะปฏิเสธการให้กู้แก่ผู้ประกอบการหรืออาจให้มีการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับประมาณการในการลงทุน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นไปในทางการปฏิเสธเนื่องจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถกำหนดหรือคำนวณในด้านต้นทุนของธุรกิจอย่างถูกต้องได้ ย่อมแสดงว่าผู้ประกอบการรายนั้นไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับธุรกิจที่ตนเองจะทำ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการขาดเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการในอนาคตได้ นอกจากนี้การไม่รู้ต้นทุนที่ถูกต้องยังส่งผลให้การคิดหรือคำนวณจำนวนเงินหรือวงเงินที่ใช้ กู้เงิน จากทางธนาคารผิดพลาดจากความเป็นจริง และบ่อยครั้งที่พบว่ามูลค่าหลักประกันของธุรกิจที่มีอยู่ ไม่เพียงพอกับการค้ำประกันวงเงินสินเชื่อเมื่อมีการคำนวณตามต้นทุนที่แท้จริงของธุรกิจได้ นอกจากเรื่องต้นทุนแล้วก็ยังเป็นเรื่องของรายได้ที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกิจ ว่าธุรกิจหรือบริการมีที่มาของรายได้ในลักษณะใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประมาณการทางการขาย ประมาณการเกี่ยวกับรายได้ ลักษณะเงื่อนไขต่างๆในการค้า เช่น ขายเงินสด ขายเงินเชื่อ การเข้ามาของรายได้ ความสม่ำเสมอของรายได้ที่เกิดขึ้นของธุรกิจ รวมถึงที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การที่ไม่รู้ว่าลูกค้าที่จะซื้อสินค้าเป็นใครหรือไม่รู้ว่าลูกค้าเป้าหมายของธุรกิจคือใครนั่นเอง โดยคิดว่าถ้าเริ่มดำเนินธุรกิจไปแล้วจะสามารถหาลูกค้าได้จากการดำเนินการของกลยุทธ์ทางการตลาดที่กำหนดไว้เหล่านี้เป็นต้น การที่ไม่รู้ถึงต้นทุนหรือการไม่รู้ถึงรายได้ของธุรกิจจึงกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในโอกาสที่จะถูกปฏิเสธจากธนาคารหรือสถาบันการเงิน จากความไม่เชื่อถือในความสามารถในการบริหารธุรกิจของผู้ประกอบการ

7.  ไม่รู้ข้อจำกัด

ถือเป็นปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือเก่า ในการติดต่อขอ กู้เงิน จากทางธนาคาร ตัวอย่างเช่น ในเรื่องของธุรกิจที่ไม่ใช่ว่าทุกๆธนาคารไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของภาครัฐจะให้วงเงินกู้กับทุกๆธุรกิจหรือให้บริการทุกๆด้านทางการเงิน เช่น ธุรกิจที่ทำทางด้านการเกษตรพื้นฐานอาจติดต่อขอเงินกู้ได้เฉพาะจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น เพราะธนาคารอื่นๆอาจจะปฏิเสธเนื่องจากไม่มีบริการเงินกู้เกี่ยวกับการเกษตรพื้นฐานดังกล่าว ในขณะที่ถ้าเป็นธุรกิจในรูปอุตสาหกรรมถ้าไปยื่นขอกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ก็จะได้รับการปฏิเสธจากทางธนาคารเพราะว่าไม่มีบริการให้กู้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจที่มีความคาบเกี่ยวระหว่าง 2 ลักษณะ เช่น มีทั้งลักษณะของเกษตรพื้นฐานและอุตสาหกรรมผสมผสาน อาจได้รับการปฏิเสธจากทั้งธนาคารที่มีบริการเงินกู้ทางการเกษตร และจากธนาคารที่มีบริการเงินกู้ทางอุตสาหกรรม เนื่องจากตีความว่าเป็นธุรกิจที่ไม่อยู่ในข่ายให้บริการก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (แต่ทั้งนี้ปัจจุบันความคลุมเครือเกี่ยวกับการตีความของลักษณะของธุรกิจในการให้บริการเงินกู้ ค่อนข้างคลี่คลายลงหรือมีความชัดเจนขึ้น โดยการพิจารณาอาจจะมุ่งเน้นที่ตัวรายได้หลักของกิจการว่าเกิดขึ้นจากกิจกรรมหรือลักษณะการดำเนินการใดของธุรกิจเป็นสำคัญ รวมถึงการระบุถึงลักษณะการให้บริการเงินกู้แก่ประเภทธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น) หรืออาจเป็นเรื่องบริการด้านการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารบางแห่งไม่สามารถออกเช็คได้แต่จะมีการให้ให้บริการเฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงิน  ดังนั้นสำหรับธุรกิจที่มีการใช้เงินหมุนเวียนทุกๆวัน อาจจะไม่สะดวกกับการ กู้เงิน หรือการใช้บริการทางการเงินกับธนาคารดังกล่าวที่มีบริการให้เฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือการที่ทางธนาคารไม่มีความชำนาญหรือไม่สามารถให้บริการในบางประเภท เช่น การเปิด L/C หรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ ก็อาจไม่เหมาะสมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านการส่งออก ดังนั้นในการ กู้เงิน แล้วธุรกิจก็สมควรเลือกใช้บริการหรือติดต่อขอกู้เงินกับทางธนาคารที่คิดว่าน่าที่จะเหมาะสมกับธุรกิจของตนให้มากที่สุด เพราะมิฉะนั้นถึงแม้ว่าธนาคารเหล่านี้จะไม่ปฏิเสธและให้เงินกู้แก่ผู้ประกอบการ แต่ทว่าหลังจากดำเนินการธุรกิจไปแล้วช่วงหนึ่งก็จะพบกับความไม่สะดวกในการดำเนินการ และอาจต้องเปลี่ยนธนาคารหรือทำการ Refinance ในที่สุด อันเป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายทั้งในการดำเนินการ และค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นอีกด้วย นอกจากในเรื่องเกี่ยวกับ “เงื่อนไข” บางอย่างเกี่ยวกับการพิจารณาการอนุมัติเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ ที่อาจจะไม่ได้เปิดเผยให้ทราบหรือประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าของทางธนาคารทราบโดยทั่วไป หรือเป็นข้อมูลหรือเงื่อนไขภายในที่เป็นที่รู้กันเฉพาะเจ้าหน้าที่อันอาจมาจากนโยบายที่กำหนดขึ้นเป็นการภายในจากทางธนาคารเอง ตัวอย่างเช่น ธนาคารบางแห่งจะไม่อนุมัติให้กับผู้ประกอบการที่เคยมีประวัติ NPL มาก่อน แม้ว่าลูกค้าดังกล่าวจะได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือได้ทำการแก้ไขหนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม เพราะถือว่าผู้ประกอบการอาจจะมีลักษณะของการขาดวินัยทางการเงินหรือพูดง่ายๆว่าธนาคารไม่ต้องการที่จะเสี่ยงกับลูกหนี้ที่เคยมีประวัติ NPL นั่นเอง หรือบางธนาคารก็อาจจะไม่อนุมัติให้กับผู้ประกอบการใหม่ที่ไม่เคยทำธุรกิจใดๆมาก่อนเลย เป็นต้น แม้ว่าจะได้มีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่หรือเคยมีประวัติ NPL ก็ตาม ซึ่งการรู้ถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับการ “ให้กู้” หรือ “ไม่ให้กู้” ถือเป็นสิ่งจำเป็นในการที่ผู้ประกอบการควรจะรู้ก่อนไปดำเนินการติดต่อขอกู้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินใดๆ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการทราบถึงโอกาสได้รับเงินกู้หรือไม่ถูกปฏิเสธจากทางธนาคาร หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ยื่นกู้ไม่ผิดที่” นั่นเอง อีกประการหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรู้เกี่ยวกับการให้กู้จากทางธนาคารหรือสถาบันการเงินก็คือ เรื่องของสัดส่วนของเงินกู้เมื่อเปรียบเทียบกับทุนที่ผู้ประกอบการมีอยู่ หรือเรียกกันว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือที่มักจะได้ยินกันอยู่เสมอว่า D/E Ratio ซึ่งในปัจจุบันแล้วโดยทั่วไปแล้วธนาคารมักจะกำหนดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสำหรับให้กู้แก่ผู้ประกอบการนี้ในระดับ 1 : 1 ความหมายก็คือธนาคารจะให้ กู้เงิน 1 ล้านบาทถ้าผู้กู้มีเงินทุนของตนเอง 1 ล้านบาท แต่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนดังกล่าวก็อาจยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมตามการพิจารณาของธนาคารสำหรับผู้ประกอบการหรือธุรกิจบางราย เช่น ประมาณ 2 : 1 หรือ 3 : 1 โดยขึ้นอยู่กับความน่าสนใจและศักยภาพของโครงการ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอัตราส่วน 1 : 1 ถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อโดยทั่วไปในปัจจุบัน ทำให้ในกรณีที่ผู้ประกอบการต้องการลงทุนในธุรกิจในวงเงิน 5 ล้านบาท แต่ตัวผู้ประกอบการมีทุนของตนเองเพียง 1 ล้านบาท แล้วหวังว่าจะ กู้เงิน จากธนาคารอีก 4 ล้านบาทมาดำเนินการตามโครงการ โอกาสที่ผู้ประกอบการจะได้รับปฏิเสธจากทางธนาคารจึงมีอยู่สูงมากหรืออาจว่าได้รับการปฏิเสธเป็นที่แน่นอน ซึ่งในกรณีที่ยืดหยุ่นที่สุดอาจเป็นทางธนาคารให้กู้ในวงเงิน 3 ล้านบาท แต่ผู้ประกอบการต้องหาทุนมาเพิ่มอีก 1 ล้านบาทรวมเป็น 2 ล้านบาท เป็นต้น (ในอดีตก่อนหน้ายุคฟองสบู่แตกอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสำหรับการให้กู้อยู่ในระดับ 2 : 1 หรือ 3 : 1 เป็นเกณฑ์พื้นฐาน ในบางโครงการหรือบางธุรกิจโดยเฉพาะด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อาจอยู่ถึงระดับ 10 : 1 หรือมากกว่าก็มี แต่ในปัจจุบันไม่มีการให้กู้ดดยใช้ระดับอัตราส่วนดังกล่าวอีกแล้ว ส่วนกรณีที่หลักประกันไม่เพียงพอต่อวงเงินสินเชื่อ โดยมีความจำเป็นต้องใช้บรรษัทสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มาร่วมค้ำประกันสินเชื่อให้ผู้ประกอบการกับทางธนาคารจะไม่ขอกล่าวไว้ในที่นี้)

8.  ไม่สามารถผ่อนชำระ

          ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ธนาคารจะปฏิเสธการให้กู้แก่ผู้ประกอบการ ถ้าหากธนาคารได้พิจารณาแล้วว่าผู้ประกอบการหรือธุรกิจนั้นไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินกู้ตามวงเงินที่ขอกู้ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากการที่ธุรกิจมีกระแสเงินสดจากผลกำไรหรือผลการดำเนินการของธุรกิจ ที่ไม่เพียงพอหรือมียอดคงเหลือภายหลังการชำระเงินกู้แล้วคงเหลือน้อยเกินไปเกินกว่าที่จะใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้สามารถแยกออกได้เป็นหลายกรณี ตัวอย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างกำไรทางบัญชีที่มีความแตกต่างจากกำไรที่เป็นเงินสด โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีลักษณะของการให้เครดิตการค้า ที่จะทำให้ส่วนใหญ่แล้วกำไรที่เกิดขึ้นทางบัญชีจะแตกต่างจากกำไรของเงินสดคือ มีมูลค่าที่ปรากฏของกำไรทางบัญชีส่วนใหญ่แล้วจะมีมากกว่ากำไรที่เป็นเงินสดที่ธุรกิจรับจริง เนื่องจากกระแสเงินสดถือเป็นสิ่งสำคัญในการพิจารณอนุมัติเงินกู้ เพราะเงินสดคือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินการและความอยู่รอดของธุรกิจ โดยส่วนใหญ่ของการประมาณการในเรื่องของกำไรขาดทุนสำหรับธุรกิจของผู้ประกอบการ จะมาจากการประมาณเกี่ยวกับตัวเลขของรายรับเปรียบเทียบกับรายจ่ายของธุรกิจโดยแสดงไว้ในงบกำไรขาดทุน แต่มักจะไม่มีการจัดทำงบกระแสเงินสดเพื่อดูว่าเงินสดในกิจการมีจำนวนเท่าใด ซึ่งทำให้บ่อยครั้งที่พบว่าการดำเนินการของธุรกิจมีผลกำไรแต่กลับไม่มีกระแสเงินสดที่เพียงพอคงเหลือในธุรกิจ (ถือเป็นประเด็นสำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นกับระบบธุรกิจไทย เนื่องจากตามกฎหมายแล้วธุรกิจจะส่งเพียงงบการเงินหลักเพียง 2 ประเภท คือ งบดุล และงบกำไรขาดทุน โดยไม่ต้องจัดส่งงบกระแสเงินสด ยกเว้นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่มีความคุ้นเคยหรือไม่สามารถจัดทำงบกระแสเงินสดได้ ทั้งที่การดำเนินการและความอยู่รอดของธุรกิจขึ้นอยู่กับกระแสเงินสดของกิจการเป็นสำคัญ) หรือในอีกกรณีหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ธนาคารพิจารณาว่าธุรกิจหรือตัวผู้ประกอบการมีภาระหนี้สินอื่นๆอยู่เดิมทั้งที่เป็นจากธุรกิจหรือหนี้สินส่วนตัว ซึ่งเมื่อรวมค่าผ่อนชำระเงินกู้สำหรับธุรกิจใหม่หรือการขยายธุรกิจที่มีอยู่เดิม จะส่งผลให้ผู้ประกอบการหรือธุรกิจมีภาระค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเงินกู้ในระดับที่เกินกว่าที่ภายหลังการชำระ จะสามารถดำเนินการหรือดำรงชีพได้โดยปกติ หรือกระแสเงินสดที่มีอยู่อาจจะอยู่ในระดับที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจได้ ถ้าเกิดเหตุการณ์บางประการขึ้นอันทำให้รายได้ต่ำกว่าประมาณการที่คาดคะเนไว้ เป็นต้น

9.  ไม่มีการเตรียมตัว

ถือเป็นปัจจัยที่อาจจะไม่ส่งผลร้ายแรงถึงระดับที่จะถูกปฏิเสธจากทางธนาคาร แต่บางครั้งก่อให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อหรืออนุมัติวงเงินกู้จากทางธนาคาร ตัวอย่างเช่น การไม่มีเอกสารประกอบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่น งบการเงิน ใบอนุญาติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เอกสารเกี่ยวกับยอดขาย เอกสารเกี่ยวกับลูกค้า เอกสารเกี่ยวกับรายได้หรือรายจ่ายต่างๆ เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาการขอเงินกู้ เป็นต้น นอกจากนี้การไม่มีการเตรียมตัวในสิ่งที่เกี่ยวข้องหรือเอกสารประกอบกับการ กู้เงิน เช่น สำเนาบัญชีธนาคารย้อนหลัง การกำหนดหรือจัดทำสัญญาจะซื้อจะขาย เงื่อนไขต่างๆในการโอนทรัพย์สิน การจัดทำมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการติดต่อหรืออนุมัติวงเงินกู้จากทางธนาคาร หรืออาจเป็นกรณีที่ไม่มีการจัดเตรียมแผนธุรกิจไว้ก่อนล่วงหน้า ทำให้เมื่อทางธนาคารเรียกแผนธุรกิจประกอบการขอกู้ผู้ประกอบการต้องเสียเวลาในการดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อใช้ประกอบการขอกู้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของการประเมินราคาทรัพย์สินที่ต้องมีการติดต่อและดำเนินการว่าจ้างบริษัทประเมินราคาทรัพย์สิน เพื่อจัดทำรายงานประเมินราคาทรัพย์สินประกอบการพิจารณา เป็นต้น และในเรื่องบางอย่างนอกเหนือออกไป เช่น การที่ผู้ประกอบการไม่มีการเตรียมตัว หรือไม่ทำความเข้าใจในแผนธุรกิจที่จะนำเสนอต่อทางธนาคารหรือสถาบันการเงินอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่ได้เป็นผู้จัดทำแผนธุรกิจเอง หรือใช้บุคคลภายนอกหรือมืออาชีพเป็นผู้จัดทำแผนธุรกิจให้ ทำให้เมื่อต้องตอบข้อซักถามหรือมีข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถชี้แจงประเด็นปัญหาต่างๆที่ถูกซักถามได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ธนาคารพิจารณาได้ว่าผู้ประกอบการยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอเกี่ยวกับธุรกิจที่ตนดำเนินการ อันอาจเป็นสาเหคุในการถูกปฏิเสธในการ กู้เงิน ก็เป็นได้

10.  มีทัศนคติเชิงลบ

ถือเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถ กู้เงิน จากทางธนาคารได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมาจากตัวผู้ประกอบการเองในเรื่องของทัศนคติ หรือการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้บริการจากทางธนาคาร ซึ่งผู้ประกอบการอาจเคยมีประสบการณ์ที่เคยไปใช้บริการหรือติดต่อขอ กู้เงิน จากธนาคารอื่นมาก่อนหน้าแล้วได้รับการปฏิเสธในการให้กู้ เมื่อผู้ประกอบการเหล่านี้มาติดต่อขอ กู้เงิน กับธนาคารแห่งอื่นก็มักบ่นหรือตำหนิเกี่ยวกับธนาคารก่อนหน้าที่ปฏิเสธการให้กู้ว่าไม่มีความรู้เข้าใจในตัวธุรกิจของตน หรือเจ้าหน้าที่ธนาคารไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจ หรือจนถึงขั้นแสดงความเห็นว่าเจ้าหน้าที่ธนาคารโง่ไปเลยก็มี ซึ่งอาจรวมไปจนถึงการบ่นหรือตำหนิติเตียนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆของทางธนาคารหรือระบบสถาบันการเงิน ว่าไม่มีความจริงใจในการให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการ ทัศนคติหรือการแสดงออกด้านลบเหล่านี้ของผู้ประกอบการอาจจะส่งผลให้ธนาคารพิจารณาว่าผู้ประกอบการดังกล่าวมีลักษณะเป็น “บุคคลเจ้าปัญหา” หรือก็ “เพราะคุณเป็นอย่างนี้ ธนาคารนั้นถึงได้ปฏิเสธ” ซึ่งจะทำให้ไม่ผ่านการประเมินในแง่ของการพิจารณาด้าน Character เกี่ยวกับตัวผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้อาจได้รับการปฏิเสธไปในที่สุดอันเนื่องมาจากทัศนคติเชิงลบของผู้ประกอบการนั่นเอง และบ่อยครั้งที่พบว่าผู้ประกอบการที่มีทัศนคติเชิงลบเหล่านี้ ได้เคยทำการติดต่อขอ กู้เงิน จากธนาคารมาแล้วหลายแห่ง และธนาคารทุกแห่งที่ได้เคยติดต่อก็ล้วนแล้วแต่ปฎิเสธการให้กู้แก่ผู้ประกอบการในลักษณะนี้มาทั้งสิ้น

 

ดังนั้นสามารถสรุปปัจจัยทั้ง 10 ประการทั้งหมดซึ่งอาจกล่าวรวมทุกปัจจัยได้ว่า “8 ไม่ 2 มี” ก็คือ

1.  ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

2.  ไม่มีประสบการณ์แต่เล็งผลเลิศ

3.  ไม่มีรายได้ให้ปรากฏ

4.  ไม่มี Business Plan หรือแผนธุรกิจ

5.  มีประวัติหนี้ NPL

6.  ไม่รู้ต้นทุนหรือไม่รู้รายได้

7.  ไม่รู้ข้อจำกัด

8.  ไม่สามารถผ่อนชำระ

9.  ไม่มีการเตรียมตัว

10.  มีทัศนคติเชิงลบ

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัจจัยหลักๆ ประมาณ 10 ประการอันจะเป็นสาเหตุที่จะทำให้ผู้ประกอบการ ถูกธนาคารปฏิเสธในการขอ กู้เงิน แต่อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการพึงเข้าใจเป็นเบื้องต้นก่อนว่าธนาคารมิใช่องค์กรการกุศลหรือมูลนิธิที่จะทำกิจการโดยไม่หวังผลกำไร เพราะเงินที่ให้ผู้ประกอบการกู้ก็คือเงินของผู้ฝากเงินหรือของประชาชนทั่วไปซึ่งอาจรวมถึงเป็นเงินของผู้ประกอบการนั่นเอง ซึ่งธนาคารจะต้องบริหารความเสี่ยงในการให้สินเชื่อให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อให้เกิดผลกำไรจากการลงทุนในการให้สินเชื่อของทางธนาคาร ดังนั้นก่อนที่ท่านซึ่งเป็นผู้ประกอบการจะไปติดต่อเพื่อขอ กู้เงิน กับธนาคาร ควรพิจารณาถึงปัจจัยในการที่ท่านจะถูกปฏิเสธก่อนว่าท่านมีคุณสมบัติของปัจจัยทั้ง 10 ประการข้างต้นประการใดประการหนึ่งแล้วหรือไม่
More about

Popular Posts